การทำเกษตรแนวตั้ง Vertical Farm

เกษตรในแนวตั้ง

พูดถึงเกี่ยวกับการทำเกษตรในทุกวันนี้ หลายๆคนคงจะนึกถึงการปลูกผักในแปลงเกษตร ที่มีการใช้พื้นที่เป็นแปลงในแนวราบ ให้น้ำด้วยสปริงเกอร์ อีกทั้งยังต้องดูแลเรื่องปุ๋ย และวัชพืชต่างๆ  แล้วถ้าหากเรามีพื้นที่จำกัดล่ะ เราจะสามารถปลูกพืชได้ไหม หรือแม้กระทั้งพื้นที่สำหรับเพาะปลูกไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่มากขึ้นนี้จะทำยังไง ตอนนี้ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นเองก็ดี ได้ทำการวิจัยเรื่องการทำเกษตรในร่ม โดยการปลูกพืชในโรงเรือนเรียงเป็นชั้น ๆ หรือที่เราเรียกกันว่า เกษตรแนวตั้งนั่นเอง ทั้งนี้ในบ้านเราอาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่จะเริ่มทำแบบนั้น แต่ในต่างประเทศ หลายๆประเทศเองก็มีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ จึงทำให้ต้องมีการพัฒนาการทำเกษตรให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค อย่างเช่น ถ้าหากพื้นที่ปลูกแบบธรรมดา 1 ไร่ เราก็จะได้ผลผลิตเพียงแค่ 1 ไร่ แต่ถ้าปลูกแบบแนวตั้งบนพื้นที่ 1 ไร่นั้น ก็จะให้ผลผลิตเทียบเท่าการปลูก 4 – 5 ไร่เลยทีเดียว ในไทยเองตอนนี้ก็เห็นว่าเริ่มมีการวิจัยขึ้นมาบ้างแล้ว

 

การเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farm) เป็นการปลูกพืชเป็นชั้น ๆ ให้น้ำ อาหาร และแสงโดยการควบคุมจากมนุษย์ทั้งสิ้น ปลูกในโรงเรือนที่มีหลังคาและมีตาข่ายป้องกันแมลงที่จะเข้ามากัดกินผลผลิต ซึ่งการวางพื้นที่แบบนี้จะทำให้เราสามารถปลูกพืชได้โดยไม่จำกัดฤดูกาล และยังสามารถผลิตผลผลิตได้เป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

 

ตัวอย่างของประเทศเพื่อบ้านที่นำเทคนิคนี้มาใช้ คือ บริษัท Skygreens ในประเทศสิงคโปร์ของเรา ได้เริ่มมีการทำฟาร์มแนวตั้ง โดยในสิงคโปร์นั้นมีพื้นที่ทำการเกษตร 250 ไร่ เป็นพื้นที่การเพาะปลูกแบบธรรมดา ซึ่งไม่สามารถให้ผลผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จึงได้มีแนวคิดในการจัดทำฟาร์มเกษตรแนวตั้งขึ้น โดยฟาร์มแห่งนี้สามารถป้อนผลผลิตเข้าสู่ตลาดได้มากถึงวันละ 1 ตัน เรียกได้ว่ามากกว่าฟาร์มปกติ 5 – 10 เท่า โเมื่อเทียบจากพื้นที่ขนาดเดียวกัน

 

ฟาร์มแห่งนี้ทำงานด้วยระบบไฮโดรลิค ใช้พลังงานและน้ำน้อยมาก และมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า A-Go-Go ซึ่งโครงสร้างของพื้นที่ที่ทำการปลูกผลผลิตนั้นจะเป็นเสา 2 เสา ค้ำกันคล้ายกับรูปตัว A ในแต่ละเสาจะมีความสูง 6 เมตร มีการหมุนเพื่อให้พืชได้รับน้ำและแสงแดดในปริมาณที่เท่าๆกัน ระบบหมุนไม่ต้องใช้ไฟฟ้า เพราะถูกคิดค้นออกมาให้ใช้ระบบเติมน้ำเพื่อหมุนรอก น้ำก็จะวนกลับไปกลับมา ในส่วนของน้ำเสียจากพืชนั้นก็จะนำไปหมักและสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ ส่วนหลังคาเป็นพลาสติก PVC ใส สามารถปลูกพืชที่ชอบอากาศร้อนได้ตลอดทั้งปี ซึ่งในการเพาะปลูกแบบปกติอย่างพื้นที่เปิดจะทำไม่ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านฤดูกาล ที่สำคัญปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในการสูบน้ำนั้นมีค่าไฟฟ้าเพียง 105 บาทต่อเดือน และต่อ 1 โครงสร้างตัว A เท่านั้นเอง

ซึ่งทาง Skygreens ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลของสิงคโปร์ และยังได้เป็นต้นแบบเกี่ยวกับฟาร์มเทคโนโลยีเกษตรอีกด้วย ในอนาคตนี้ Skygreens เองก็ตั้งเป้าที่จะส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างที่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และยุโรป โดยเน้นการแก้ปัญหาความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

SHARE THIS POST